หน่อโพธิ์ แทรแวล NorBhodi Travel  ใบอนุญาตธุรกิจนำเที่ยวเลขที่ 11/09361

หน่อโพธิ์ แทรแวล NorBhodi Travel  ใบอนุญาตธุรกิจนำเที่ยวเลขที่ 11/09361

เมนู

สถานที่ท่องเที่ยวในเสียมเรียบ

นครวัด ที่สุดของภูมิปัญญามนุษยชาติ

นครวัด หรือ อังกอร์วัต (Angor Wat) มีความหมายว่า ศาสนสถานแห่งพระนคร สร้างโดยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ (ระหว่างพ.ศ.๑๖๕๖-๑๖๙๓) ใช้เวลาสร้างเพียง ๓๘ ปี มีความงดงาม ยิ่งใหญ่ และลึกลับ จนถูกจัดเข้าเป็นหนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลก ศาสนสถานแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่พระวิษณุ ซึ่งพบไม่กี่แห่ง ส่วนใหญ่ศาสนสถานฮินดูในเขมรจะสร้างอุทิศแด่พระศิวะ นอกจากนี้ยังสันนิษฐานว่านครวัด สร้างขึ้นเพื่อเป็นสุสานของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ ด้วย จึงหันหน้าสู่ทิศตะวันตก


กำแพงชั้นนอกของนครวัดมีความกว้างถึง ๑๐๒๕ x ๘๐๐ เมตร และมีคูน้ำกว้างขนาด ๒๐๐ เมตร ล้อมรอบแผนผังของนครวัดได้รับการออกแบบเป็น ๓ ระดับ ระดับแรกจะมีภาพสลักนูนต่ำเล่าเรื่องรามยณะ เรื่องการกวนเกษียรสมุทร และกองทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ / ระดับที่ ๒ เป็นลานเชื่อมระหว่างระดับที่ ๑ และ ๓ มีประติมากรรม และภาพสลักมากมาย / ระดับที่ ๓ สำคัญมาก และอยู่สูงมากถึง ๔๒ เมตร ในสมัยโบราณจะมีเพียงกษัตริย์และหัวหน้านักบวชเท่านั้นที่จะขึ้นไปได้ แต่ปัจจุบันใครๆ ก็ขึ้นได้ค่ะ ถ้ามีกำลังพอและไม่กลัวความสูง เมื่อขึ้นไปแล้วจะเห็นทิวทัศน์ของอุทยานได้ทั้งหมด บนชั้นที่ ๓ ปัจจุบัน ประดิษฐานพระพุทธรูป แทนที่เทวรูปแล้ว เพราะการเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธในสมัยหลัง ชมภาพตัวอย่างทัวร์เสียมเรียบ

วิมานเทวะ

ในภาพด้านล่างจะเห็นทางขึ้นปราสาทนครวัดระดับที่ ๓ ซึ่งสูง ๔๒ เมตร ลองนึกภาพว่า สมัยก่อนเวลากษัตริย์และหัวหน้านักบวช (ซึ่งก็คงสูงอายุ) จะไต่ขึ้นไปอย่างไรหนอ ... ไกด์เล่าให้ฟังว่า เขาเคยลองไต่ขึ้นไปได้แค่ครึ่งเดียว พอจะลงก็ลงไม่ได้ กลัวมาก ขาสั่นไปหมด ต้องค่อยๆ เกาะถอยหลังลงมาอย่างทุลักทุเล แล้วบอกกับตัวเองว่า เข็ดแล้ว ... ส่วนที่คนโบราณต้องทำให้บันไดชันและแคบอย่างนี้ ก็เพราะเป็นเสมือนการขึ้นไปเข้าเฝ้าพระเจ้า ต้องทำด้วยความอดทน สงบเสงี่ยม เรียบร้อย ระมัดระวังกิริยา ด้วยความเคารพและศรัทธาอย่างที่สุด /เมื่อขึ้นไปเฝ้าองค์เทวะกันเรียบร้อย ก็ลงมาเดินชมลานระดับสองต่อ ไกด์ชี้ชวนให้ชมนางอัปสรที่มีเครื่องแต่งกาย และท่าทางต่างๆ กัน มีผู้นับจดบันทึกไว้ว่านางอัปสรที่นี่มีทรงผมแตกต่างกันถึง ๓๖ แบบ ทีเดียว ... 

ปราสาทพนมบาเค็ง

เขาพนนมบาเค็งหรือวนัมกันตาล เป็นที่ตั้งของปราสาทพนมบาเค็ง สร้างในสมัยของพระเจ้ายโศวรมันที่ ๑ เป็นกษัตริย์ที่ทรงสถาปนาเมืองพระนครขึ้นราวกลาง พศต.ที่ ๑๕ มีชื่อว่า "ยโศธรปุระ" ตามชื่อของพระองค์ อาณาเขตของเมืองกว้างใหญ่ โดยมีเขาพนมบาเค็งเป็นจุดศูนย์กลางเมือง ดังนั้น นักท่องเที่ยวจึงนิยมขึ้นไปชมทิวทัศน์ของเมืองจากยอดเขานี้ ซึ่งใช้เวลาเดินเพียง ๒๐ นาที ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่นสองข้างทาง สำหรับวันที่อากาศดีจะสามารถมองเห็นนครวัดได้อย่างชัดเจน


ปัจจุบันปราสาทพนมบาเค็ง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกตั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๓๕ และจำกัดคนขึ้นได้ครั้งละ ๓๐๐ คนเท่านั้น ดังนั้นถ้าเราไปในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ก็อาจต้องรอคิวขึ้นนิดนึงค่ะ

นครธม

นครธม หรือ อังกอร์ธม แปลตามศัพท์ว่า เมืองใหญ่ หมายถึงความยิ่งใหญ่ของเมืองพระนคร มีการสันนิษฐานว่า นครธมในสมัยนั้นจะมีผู้คนอาศัยอยู่ถึงล้านคน มีความกว้างขวางถึง ๑๐ ตร.กม. สร้างโดย พระเจ้าชัยวรมันที่๗ (พ.ศ.๑๗๒๔-๑๗๖๒)พระองค์ทรงศรัทธาในพุทธศาสนามหายาน กำแพงนครธมจึงสลักไว้ด้วยภาพพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร


นครธม มีปราสาทบายนเป็นจุดศูนย์กลางพระนคร ถือได้ว่าเป็นวัดหลวงของพระนคร และเป็นวัดในพระพุทธศาสนา จุดเด่นของปราสาทบายน คือ "รอยยิ้มบายน" บางท่านก็ว่าเป็นพระพักตร์ของพระอวโลกิเตศวร บางท่านว่าแทนพระพักตร์ของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ที่ทรงหันไปดูทุกข์สุขของประชากรทั้ง ๔ ทิศ ทั่วราชอาณาจักร ทั้งนี้เพราะนอกจากพระองค์จะเป็นกษัติย์นักรบ ที่สามารถขับไล่พวกจามออกไปจากอาณาจักร นำเอกราชมาสู่ชาวเขมร และทรงขยายพระราชอาณาเขตออกไปอีกกว้างใหญ่แล้ว พระองค์ยังทรงเอาพระทัยใส่อาณาประชาราษฏร์ ทรงสร้าง ธรรมศาลาหรือที่พักคนเดินทางตามเส้นทางทั่วราชอาณาจักร ทรงสร้างอโรคยศาลา (โรงพยาบาล) และ ศาสนสถาน จำนวนมาก

ปราสาทตาพรหม

ปราสาทตาพรหม
ปราสาทตาพรหม

ปราสาทตาพรหมสร้างโดยพระเจ้าชัยวรมันที่๗ เดิมมีชื่อว่า"ราชวิหาร" หมายถึง ศาสนสถานของพระราชา เป็นวัดในพุทธศาสนา และยังใช้เป็นมหาวิทยาลัยอีกด้วย ตามจารึกที่ขุดพบระบุว่าในยุคนั้นมีผู้อาศัยอยู่รอบ ๆ ปราสาทราว ๘๐,๐๐๐ คน มีหน้าที่ดูแลปราสาท โดยเป็นตัวแทนมาจากหมู่บ้าน ๓,๐๐๐ หมู่บ้าน ที่อยู่โดยรอบ

กลุ่มปราสาทตาพรหมประกอบด้วยปราสาทแวดล้อมถึง ๒๔ หลัง ปัจจุบันยังมีไม้ใหญ่ขึ้นปกคลุม และแทรกตัวไปตามซอกหิน จนดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทที่จะแยกตัวออกมามิได้ มิเช่นนั้นปราสาทก็จะพังลงมา ที่จริงแล้วปราสาทนครวัดเดิมก็มีสภาพเช่นเดียวกัน แต่ทางการได้ตัดต้นไม้ออกแล้วบูรณะ ส่วนปราสาทตาพรหมตั้งใจปล่อยต้นไม้ต่างๆ ให้ขึ้นคลุมไว้อย่างนี้ เพื่อให้เห็นว่าสภาพของเมืองพระนครและนครธมตอนที่มาพบหลังจากถูกทิ้งรกร้างไปหลายร้อยปีนั้นเป็นเช่นไร

ปราสาทแปรรูป

ปราสาทแปรรูปสร้างโดยพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ ๒ (พ.ศ.๑๔๘๗-๑๕๑๑) เมื่อทรงย้ายเมืองหลวงกลับมายังเมือพระนครภายหลังการสวรรคตของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ (พระเจ้าชัยวรมันที่ ๔ ทรงย้ายเมืองหลวงจากยโสธรปุระไปที่ เกาะแกร์หรือโฉกครรยาร์ ซึ่งชาวเขมรมักออกเสียงว่า โฉกกะกี ซึ่งห่างออกไปราว ๘๐ กม.) เมื่อย้ายราชธานีกลับมาเมืองพระนครแล้ว พระองค์ก็โปรดให้สร้างปราสาทแปรรูปขึ้นที่ริมฝั่งบารายตะวันออก


ปราสาทแปรรูป เป็นปราสาทมีฐานเป็นชั้นๆ ยอดสร้างด้วยอิฐเช่นเดียวกับปราสาทอื่นๆ ในศิลปะสมัยพระนครตอนต้น แต่มีพัฒนาการใหม่ที่สามารถสังเกตได้ก็คือ ปราสาทประธานได้เพิ่มจำนวนเป็นห้าหลังเป็นครั้งแรกและปราสาทเริ่มปรากฏ “อาคารยาวๆ” โดยรอบซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับระเบียงคดในระยะต่อมา อาคารยาวๆ เหล่านี้คงใช้เป็นที่เก็บของหรือเป็นที่พัก ด้านหน้าปราสาทปรากฏแท่นสี่เหลี่ยมผืนผ้าซึ่งคงเป็นที่ประดิษฐานโคนนทิมาก่อน ปัจจุบันสูญหายไปแล้ว (ข้อมูลส่วนนี้ได้มาจากการสรุปของ รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี)

บันทายศรี

ปราสาทบันทายสรี แม้จะเป็นปราสาทหลังเล็ก แต่ก็มีความงดงามมากจนถือเป็นไฮไลท์หนึ่งของการมาเที่ยวเสียมเรียบ ชาวเขมรเรียกว่า "บันเตียเสรย" แปลได้ว่า ป้อมแห่งสตรี ที่เรียกเช่นนี้คงเป็นเพราะ มีขนาดเล็ก ลวดลายสลักเสลาอ่อนช้อยงดงาม แม้ว่าที่จริงแล้วจะสร้างโดย พราหมณ์ยัชญวราหะ (พ.ศ.๑๕๙๐-๑๕๔๕) ราชปุโรหิตของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๕ (ผู้ที่สร้างปราสาทหินองค์สำคัญของเมืองได้ มีเฉพาะกษัตริย์และหัวหน้าพราหมณ์ราชสำนักเท่านั้น ส่วนราชวงศ์ระดับรองและอำมาตย์จะสามารถสร้างได้เฉพาะปราสาท ศรุก ที่เป็นเทวาลัยหลังเล็ก เปรียบเหมือนวัดประจำหมู่บ้าน ไว้เป็นที่กราบไหว้ของชาวบ้านในชุมชนเท่านั้น)


ปราสาทหลังนี้สร้างอุทิศแด่พระศิวะ และกล่าวว่าสร้างด้วยหินทรายสีชมพู แต่พอไปดูจริงๆ แล้ว กลับไม่ใช่ชมพู ออกเป็นสีโอโรสมากกว่า หมู่ปราสาทตั้งอยู่กลางทุ่งนา นอกเมืองยโศธรปุระ การไปชมต้องนั่งรถออกจากตัวเมืองเสียมเรียบไปราว ๔๐ นาที หน้าทางเข้ามีคูน้ำไม่ใหญ่นัก แต่เสริมให้ภาพปราสาทดูนุ่มนวลขึ้นไปอีก 

พนมกุเลน มเหนทรบรรพต

พนมกุเลน คือเทือกเขาที่เป็นต้นแม่น้ำเสียมเรียบ สถานที่นี้เริ่มต้นมีความสำคัญขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ เมื่อพระองค์เสด็จหนีกลับมาจากการเป็นเชลยของพวกชวาได้ พระองค์ทรงทำศึกปลดปล่อยเขมรเป็นอิสระ แล้วทรงใช้เขาลูกนี้เป็นที่สถาปนาลัทธิ "เทวราชา" ขึ้น นับจากนั้นพิธีบรมราชาภิเษกของกษัติย์องค์ต่อๆ มาก็กระทำขึ้น ณ ยอดเขาแห่งนี้


คำว่า "มเหนทรหรือมหินธร" แปลว่า ผู้ทรงแผ่นดินหรือเจ้าแห่งภูเขา หมายถึงพระศิวะ ซึ่งพระองค์เป็นเจ้าแห่งไกรลาส พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ทรงเริ่มสร้างเทวาลัย แกะสลักศิวลึงก์และภาพเทพเจ้าไว้ตามโตรกหิน กษัตริย์องค์ต่อๆ มาก็ทรงดำเนินรอยตาม จึงมีศิวลึงก์นับพันองค์ ธารน้ำตกไหลผ่านศิวลึงก์เหล่านี้ลงสู่แม่น้ำเสียมเรียบ แม่น้ำเสียมเรียบจึงกลายเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวเขมรเช่นเดียวกับแม่น้ำคงคาของชาวอินเดีย

เขาพนมกุเลนยังเป็นแหล่งตัดหินแหล่งใหญ่สำหรับขนไปสร้างนครวัดในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ ๒ อีกด้วย เพราะอยู่ห่างกันแค่ ๔๐ กม. และสามารถขนส่งได้ทั้งทางบกและทางน้ำ

บรรยากาศบนเขาพนมกุเลน
บรรยากาศบนเขาพนมกุเลน
พระนอนในวิหารลอยฟ้า
พระนอนในวิหารลอยฟ้า

พระองค์ธม ณ พนมกุเลน

บนเขาพนมกุเลน ยังมีบ่อตาน้ำผุดที่ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์รักษาโรคได้ น้ำจากบ่อผุดแห่งนี้ทำให้เกิดลำธารและน้ำตกพนมกุเลน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำเสียมเรียบ ใกล้ๆ กันมีศาลปู่ฤษี เพราะเมื่อก่อนเคยมีฤษีอาศัยอยู่ และอีกศาลสร้างขึ้นใหม่โดยคนที่นำนำ้จากตานำ้นี้ไปอาบดื่มแล้วหายป่วยจึงกลับมาสร้างถวายไว้ เชื่อกันว่าน้ำที่นี่ช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้ ใครมาต้องตักล้างหน้าลูบหัว ... แต่ไฮไลท์ที่มหัศจรรย์มากๆ อยู่ตรงที่บริเวณนี้คือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นดินแดนแห่งเทพเจ้า มีการสลักรูปศิวลึงค์ 1,000 องค์ และนารายณ์บรรทมสินธุ์ไว้บนหินใต้น้ำตามธรรมชาติ เป็นแนวยาวไปตลอดลำน้ำ

นอกจากจะได้ชมน้ำตกสวยๆ ได้เยือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของเทวะแล้ว ยังได้กราบไว้พระพุทธรูปเก่าแก่ที่วัดพระองค์ธม (ธม แปลว่าใหญ่ หมายถึงพระองค์ใหญ่) เป็นพระนอนที่แกะสลักจากหินก้อนเดียว เกาะเกี่ยวอยู่ริมผา สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้านะองค์จันท์ ราว พ.ศ. ๒๑๒๒ ต่อมาก็มีการสร้างวิหารครอบ จึงเรียกว่าวิหารลอยฟ้า 

โตนเลสาบ

คำว่า "โตนเล" แปลว่าแม่น้ำ "สาป" แปลว่า จืด โตนเลสาบเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย กินพื้นที่กว้างที่สุดตอนหน้าน้ำหลากด้วยขนาด ๑๖,๐๐๐ ตร.กม. แต่ถ้ายามปรกติจะลดเหลือเพียง ๒,๗๐๐ ตร.กม. ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำขุ่นคลั่กและมีกลิ่นคาวปลา ดังนั้นช่่วงการเที่ยวชมโตนเลสาปที่เหมาะสมจึงอยู่ในราวเดือนมิถุนายน - พฤศจิกายน


บริเวณโตนเลสาบและพื้นที่โดยรอบมีประชากรอาศัยอยู่ราวร้อยละ ๑๐ ของประชากรกัมพูชาทั้งประเทศ คนเหล่านี้เรียกตัวเองว่า ‘ชาวน้ำ’ ประชากรเหล่านี้ส่วนใหญ่มีเชื้อสายเวียดนาม ที่เข้ามาตั้งรกรากตั้งแต่ครั้งเวียตนามบุกยึดพนมเปญ เมื่อสงครามจบก็ไม่ได้อพยพกลับไป แต่ลงหลักปักษ์ฐานแต่งงานกับชาวเขมรจนกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ในดินแดนแถบนี้  ... วิถีชีวิตในโตนเลสาบ มิได้จะมีแค่เรือนแพของชาวประมงพื้นบ้าน แต่ยังมีบ้านพัก ร้านอาหาร และร้านของฝากนักท่องเที่ยว ชาวบ้านได้มีการนำมาดัดแปลงเพื่อเป็นเรือให้ท่องเที่ยวล่องชมวิถีชีวิตของชุมชนตามริมน้ำ รายได้จากนักท่องเที่ยวมีการตัดแบ่งเข้ากองกลางเพื่อพัฒนาชุมชน เช่น ถนนหนทาง ห้องน้ำ เรือนำเที่ยว เป็นต้น ถือเป็นชุมชนที่พึ่งตนเองได้อย่างแข็งแกร่ง เป็นตัวอย่างที่ดีของการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชน

บรรยากาศโตนเลสาบ
บรรยากาศโตนเลสาบ

ศูนย์หัตถกรรม

อีกสถานที่หนึ่งที่มาถึงเสียมเรียบแล้วก็ควรหาโอกาสไปชมคืองานศิลปะหัตถกรรมสวยๆ งามๆ ที่ศูนย์ศิลปาชีพที่เรียกว่า Artisans Angkor แรกเริ่มศูนย์นี้เปิดขึ้นเพื่อเป็นการฝึกอาชีพให้ชาวบ้าน ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่มือเอกชน แต่ก็ยังเป็นแหล่งจ้างงานให้กับชาวเขมรนับพัน ศูนย์นี้มีถึง ๔๒ สาขา กระจายอยู่ในเมืองอื่นๆ ด้วย และสินค้าที่ผลิตออกมาก็เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว สร้างมูลค่าเพิ่มได้ลิบลิ่ว ... ยังมีสินค้าสวยงามน่าเป็นเจ้าของอีกมาก แต่อยู่ในโซนห้ามถ่ายภาพค่ะ

วัดพุทธเถรวาท

ปัจจุบันชาวเขมรส่วนใหญ่ นับถือศาสนาพุทธเถรวาทแบบบ้านเรา หากมีเวลาก็อย่าลืมไปชมวัดวาอาราม ไหว้ศาลที่สถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง ทำบุญเสริมสิริมงคลให้ชีวิตกันด้วยนะคะ ขอแนะนำ...

วัดแรกชื่อวัดพระพรหมรัตน์ แม้จะเป็นวัดที่สร้างใหม่ แต่ก็มีภาพจิตรกรรมฝาผนังพุทธประวัติที่งดงาม ถ้ามีเวลาก็น่าเดินชมเรียนรู้เรื่องราวพร้อมซึมซับธรรมะไปทีละภาพ วัดนี้แปลกที่ทำเสมาตั้งไว้ภายในกำแพงอุโบสถ

วัดที่สองชื่อวัดโพ เป็นวัดเก่าแก่อายุราว ๓๐๐ ปี ภาพแกะสลักที่โบสถ์งดงามมาก

วัดที่สามคือวัดทะไมหรือวัดใหม่ ที่นี่เคยเป็นคุกและทุ่งสังหาร รอบๆวัดติดป้ายเล่าเรื่องราวความทุกข์ยากของชาวเขมรเมื่อครั้งเขมรแดงเรืองอำนาจ และมีห้องกระจกเก็บหัวกะโหลกที่ขุดขึ้นจากุท่งสังหารบริเวณนี้ มาที่นี่แม้จะไม่มีภาพที่งดงามชวนให้ถ่ายรูป แต่ก็ได้ความเข้าใจและเห็นใจในชะตากรรมของชาวเขมรอย่างสุดซึ้ง

สถานที่พลาดไม่ได้อีกแห่งคือ ศาลองค์เจก องค์จอม พระพุทธรูปสององค์ขนาดเล็กใหญ่ต่างกัน เสมือนเป็นองค์พี่องค์น้อง มีตำนานเล่าขานหลายเวอร์ชั่น แต่ที่แน่นอนคือ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำเมืองที่เคารพสักการะอย่างสูงของชาวเสียมเรียบ

การตั้งค่าคุกกี้
ไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ในการท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้น
คุณสามารถยอมรับคุกกี้ทั้งหมดหรือเลือกประเภทของคุกกี้ที่คุณยินดีอนุญาต
ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
เลือกคุกกี้ที่คุณต้องการอนุญาตในขณะที่คุณเรียกดูเว็บไซต์นี้ โปรดทราบว่าคุกกี้บางตัวไม่สามารถปิดได้ เนื่องจากหากไม่มีคุกกี้ เว็บไซต์จะไม่ทำงาน
ความสำคัญ
เพื่อป้องกันสแปม ไซต์นี้ใช้ Google Recaptcha ในแบบฟอร์มการติดต่อ

ไซต์นี้อาจใช้คุกกี้สำหรับอีคอมเมิร์ซและระบบการชำระเงินซึ่งจำเป็นสำหรับเว็บไซต์เพื่อให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง
บริการของ Google
ไซต์นี้ใช้คุกกี้จาก Google เพื่อเข้าถึงข้อมูล เช่น หน้าที่คุณเยี่ยมชมและที่อยู่ IP ของคุณ บริการของ Google บนเว็บไซต์นี้อาจรวมถึง:

- Google Maps
- Google Font
ข้อมูล
ไซต์นี้อาจใช้คุกกี้เพื่อบันทึกพฤติกรรมของผู้เข้าชม ติดตามการแปลงโฆษณา และสร้างผู้ชม รวมถึงจาก:

- Google Analytics
- เครื่องมือวัด Conversion ของ Google Ads
- Facebook (Meta Pixel)