หน่อโพธิ์ แทรแวล NorBhodi Travel  ใบอนุญาตธุรกิจนำเที่ยวเลขที่ 11/09361

หน่อโพธิ์ แทรแวล NorBhodi Travel  ใบอนุญาตธุรกิจนำเที่ยวเลขที่ 11/09361

เมนู

แพ็คเกจทัวร์มาเลเซีย: สำรวจเมืองและวัฒนธรรม

ทัวร์มาเลเซีย 5 วัน 4 คืน สไตล์ Legacy

มะละกา-ปีนัง-ปุตราจายา-กัวลาลัมเปอร์-เก็นติ้ง

      • อยากไปเที่ยวมาเลเซีย แบบอิ่มๆ เดินทางทั้งทีเก็บไฮไลท์ได้ครบ
      • มีเวลาให้ชมและเที่ยวในแต่ละที่อย่างเพียงพอ
      • ชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมเยอะหน่อย แบบสไตล์ Legacy
      • ส่วนช้อปปิ้งกับเก็นติ้งก็ไปนะ ขึ้นปีนังฮิลล์ด้วย ให้ได้สัมผัสทุกอย่าง

      👍บินไป-กลับเลย ไม่เอานอนในรถไฟ ยังไงก็ไม่หลับหรอก แถมเช้ามายังเดินตัวเหวี่ยงไปอีกเกือบครึ่งวัน

      คลิก >> โหลดโปรแกรมทัวร์

      เที่ยวเจาะลึกมาเลเซีย

      เที่ยวเจาะลึกมาเลเซีย

      มะละกา เมืองมรดกโลก

      เมืองมะละกา เมืองหลวงแรกของมาเลเซีย ที่เต็มไปด้วยอารยะธรรมเก่าแก่ ในอดีตคือเมืองท่าสำคัญของภูมิภาค เป็นที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าสำคัญ เช่น ไหม ชา เครื่องเทศ แม้กระทั่งทองคำ และฝิ่น เป็นเมืองที่เคยได้รับอิทธิพลจากจีนแผ่นดินใหญ่ก่อนที่ยุโรปจะเข้ามา ต่อมาก็เป็นสมัยที่ยุโรปที่เข้ามาครอบครอง ชาติแรกคือโปรตุเกสตั้งแต่ ค.ศ.๑๕๑๑ พอถึงปีค.ศ. ๑๖๔๑ ก็โยกไปอยู่ในอำนาจของดัตช์ เมืองมะละกาจึงมีสถาปัตยกรรม ศิลปวัฒนธรรม และไลฟ์สไตล์ของผู้คน ที่ผสมผสานตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน ด้วยเหตุนี้จึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดย UNESCO เมื่อปีค.ศ. ๒๐๐๘  ความหมายของชื่อ "มะละกา" บ้างก็ว่า คือต้นมะละกา  ส่วนอีกทางหนึ่งก็ว่ามาจากคำในภาษาอาหรับ "Malakat" ที่แปลว่า "ตลาด" ชนชาวมะละกาเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามเมื่อราวคริศตวรรษที่ ๑๔ จากที่ก่อนหน้านี้เป็นพุทธและฮินดู 

      สถานที่ท่องเที่ยวน่าดูน่าชมในมะละกามีมากมาย ยกมาพอสังเขป เช่น 

      วัดเฉิงฮุนเทง หรือ Kebun Datok  หมายถึงสวนของเทพเจ้า เป็นวัดจีนที่เก่าแก่ที่สุดในมาเลเซีย มีมาตั้งแต่ต้น ค.ศ.๑๖๐๐ แล้ว เพราะมีบันทึกในวัดระบุถึงปีที่ ๒๘ ของราชวงศ์หมิง     

       จัตุรัสดัตช์ ศูนย์กลางการปกครองตลอดช่วงระยะเวลา ๑๕๔ ปี ที่ฮอลันดาเข้ายึดครองมะละกา สองฟากถนนเป็นอาคารตึกแถวแบบชิโน-โปรตุกีส อายุกว่า ๒๐๐ ปี มีเอกลักษณ์ในการทาสีแดงปูนกินหมาก หรือสี salm๐n pink

      มัสยิดลอยน้ำ Melaka Straits Mosque เรียกเช่นนี้ เพราะสร้างอยู่บนเกาะที่ถมขึ้นใหม่ เนื้อที่เกาะ ๔๐ เฮกเตอร์ หากระดับน้ำขึ้นสูงจะมองดูเหมือนลอยอยู่บนน้ำ มัสยิดเปิดเป็นทางการเมื่อพฤศจิกายน ๒๐๐๖ ใช้หินอ่อนสีขาวประดิดประดอยในแบบศิลปะผสมผสานอาหรับและมลายู มีการใช้กระจกสีประดับ มัสยิดมีมินาเรตที่สูงถึง ๓๐ เมตร ที่สามารถใช้เป็นประภาคารได้ด้วย ลักษณะของมัสยิดคล้ายกับมัสยิดลอยน้ำที่เมืองเจดดาห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย ว่ากันว่า เมื่อไปยืนอยู่ที่มัสยิดจะรู้สึกเหมือนยืนอยู่กลางทะเล

      ทัวร์มาเลเซีย ท่องเที่ยวมะละกา ขอบคุณภาพ จาก pinterest.com/pin/522980575489747582/ และ https://www.flickr.com/photos/hams_photos/15966789449/

      ทัวร์มาเลเซีย ท่องเที่ยวมะละกา ขอบคุณภาพ จาก pinterest.com/pin/522980575489747582/ และ https://www.flickr.com/photos/hams_photos/15966789449/

      จอร์จทาวน์ ปีนัง เมืองมรดกโลก

      เมืองจอร์จทาวน์ (George Town) เมืองหลวงของรัฐปีนัง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกในปีค.ศ.๒๐๐๘ ปีเดียวกันกับเมืองมะละกา 

      ชื่อปีนัง เป็นที่รู้จักในสังคมไทยมานานนับกว่าร้อยปี รัชกาลที่ ๕, ๖ และ ๗ ก็เคยเสด็จฯ เยือนปีนัง และยังเป็นที่ลี้ภัยการเมืองของบรมวงศานุวงศ์ในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง บรรพบุรุษของตระกูล ณ ระนอง เจ้าเมืองตรังและเสนาบดีที่ดูแลพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทย ก็เดินทางทำการค้าระหว่างปีนังและดินแดนในเขตไทย จนมั่งคั่ง และมีคฤหาสน์อยู่ที่เมืองปีนังหลายแห่ง เป็นที่รับเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ของไทยอยู่เนืองๆ ปัจจุบันอาคารเหล่านั้นถูกเปลี่ยนไปตามกาลเวลา อาจจะยังได้เห็นเค้าโครงอยู่บ้างแทรกอยู่ในคอนโด โรงแรม หรือห้างสรรพสินค้าที่เข้ามาแทนที่ แต่ได้เก็บพื้นที่บางส่วนไว้เพื่อการอนุรักษ์

      เกาะปีนัง ในภาษามาเลย์จะเรียกว่า “ปูเลาปีนัง” ปูเลา แปลว่า เกาะ ส่วนปีนัง แปลว่า “ต้นหมาก” เนื่องจากในอดีตเกาะปีนังมีต้นหมากขึ้นอยู่มากมายนั่นเอง คนไทยก็เคยเรียกปีนังว่า “เกาะหมาก” เช่นกัน และหากพูดถึงรัฐปีนัง จะหมายรวมถึงพื้นที่บนเกาะปีนัง และ เซเบอรังเปอไร (Seberang Parai) บนแผ่นดินใหญ่

      เกาะปีนังเป็นที่รู้จักของชาวยุโรป จากการถูกค้นพบโดย กัปตันฟรานซิส ไลท์ นักสำรวจบุกเบิกชาวอังกฤษ ต่อมาในปี ค.ศ.๑๗๘๖ อังกฤษก็ได้ทำสัญญาเช่าเกาะปีนังกับสุลต่านแห่งเคดาห์ ด้วยการทำสัญญาว่าจะปกป้องแผ่นดินนี้จากสยามประเทศ จากนั้นเกาะนี้ก็ได้มีชื่อเรียกใหม่ว่า “Prince of Wales Island” เนื่อด้วยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันเกิดของเจ้าชายแห่งเวลส์ กัปตันไรท์รับหน้าที่บริหารเกาะ เขาเริ่มตั้งชุมชนตามแบบอาณานิคมของอังกฤษ และตั้งเมือง จอร์จทาวน์”  ขึ้น ตามพระนามของพระเจ้าจอร์จที่ ๓ อังกฤษใช้จอร์จทาวน์เป็นเมืองท่าปลอดภาษี จึงทำให้เมืองพัฒนาอย่างรวดเร็ว และมีการเปิดสอนภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

      คนไทยในสมัยก่อนที่พอมีอันจะกิน มักนิยมส่งลูกหลานมาศึกษาที่นี่ เพื่อให้ได้เรียนภาษาอังกฤษและวิชาการทันสมัยแห่งยุค อาคารที่อังกฤษสร้างไว้เป็นโรงเรียน ยังคงแสดงความโอ่อ่ายืนยงให้เราได้ชมจนทุกวันนี้

      จอร์จทาวน์ คือ บริเวณที่เคยเป็นศูนย์ราชการของอังกฤษในสมัยนั้น ประกอบด้วยสถานที่สำคัญ เช่น

      เอสพลานาร์ด” ลานโล่งๆ ริมทะเล เทียบได้กับลานกลางเมืองของยุคอังกฤษ เคยเป็นที่หวงห้าม อนุญาตเฉพาะชาวอังกฤษเท่านั้นที่จะเข้ามาใช้พื้นที่ได้ ปัจจุบันเป็นลานพักผ่อนริมชายหาดสาธารณะ ช่วงเย็นชาวเมืองนิยมมาปิกนิก โดยบริเวณนั้นจะมี “อนุสรณ์สงครามโลกครั้งที่ ๑” (The Cenotaph) อยู่ด้วย ที่สำคัญน่ารับรู้ไว้อีกอย่างคือ เป็นชายหาดที่รัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ ขึ้น คราวเยือนปีนัง

      หอนาฬิกาควีนวิกตอเรีย ถือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองปีนัง สร้างเมื่อค.ศ. ๑๘๙๗ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองการครองราชน์ของราชินีวิกตอเรียครบ ๑๖ ปี แต่มาสร้างเสร็จเอาปี ๑๙๐๒ ซึ่งพระนางสวรรคตแล้ว

      ป้อมคอร์นเวลลิส ยังคงมีโครงสร้างของคลัง ประภาคาร และปืนเก่าชื่อ “เสรีรัมใบ” เป็นปืนใหญ่ของฮอลันดาที่มอบเป็นของกำนัลแก่สุลต่านยะโฮร์ แต่ถูกโปรตุเกสชิงไปแล้วส่งต่อให้ชวา สุดท้ายอังกฤษก็นำกลับมาไว้ที่นี่ ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นใช้ป้อมนี้เป็นคลังเก็บเสบียงและอาวุธ

       St.George’s Anglican Church เมื่ออังกฤษได้สิทธิปกครองคาบสมุทรมลายูอย่างเต็มที่แล้ว ก็เริ่มนำศาสนาคริสต์นิกายแองกลิกันเข้ามาเผยแผ่ เริ่มแรกใช้พื้นที่ของป้อมคอร์นเวลลิสทำกิจกรรมทางศาสนา ต่อมาในปี ๑๘๑๕ จึงได้สร้างโบสถ์แห่งนี้ใช้เวลาราว ๓ ปี จึงแล้วเสร็จ การก่อสร้างนั้น อังกฤษได้ใช้เรือลำใหญ่ขนแรงงานที่ส่วนใหญ่เป็นนักโทษชาวอินเดีย และวัสดุหลักคือไม้มะฮอกกานีมาจากแอฟริกา

      City Hall และ Town Hall ซิตี้ฮอลล์ จะเป็นอาคารสีขาวสไตล์โคโลเนียล โดดเด่นด้วยเสาแบบกรีกและหน้าต่างบานใหญ่ ส่วนทาวน์ฮอลล์ จะเป็นอาคารสีเหลืองอ่อน Town Hall สร้างก่อนในปีค.ศ. ๑๘๗๙  ใช้เป็นสำนักงานกลางของรัฐบาลอังกฤษ ต่อมา จึงสร้างอาคารขึ้นมาอีกหลังหนึ่งคือ City Hall แล้วเสร็จในปี ๑๙๐๓

      อาคาร Penang State Museum & Art Gallery สร้างขึ้นเมื่อ ค.ศ.๑๘๑๗ ด้วยเงินทุนของ บริษัทอีสอินเดีย เพื่อให้เป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษฟรีแก่ยุวชนทั้งชายและหญิง และได้แปลงเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์เมื่อปี ๑๙๖๔

      ลิตเติ้ลอินเดีย ชุมชนของชาวอินเดียที่มีทั้งโบสถ์ฮินดูเก่าแก่ศิลปะอินเดียใต้ คล้ายวัดแขกสีลมของเรา  มีร้านขายอาหารคาวหวานแบบอินเดีย มีสินค้าอินเดียหลากหลาย  แถมยังเห็นสาวอินเดียห่มส่าหรีสีสันสวยสดเดินผ่านไปมา ได้อารมณ์เหมือนอยู่ในเมืองหนึ่งของอินเดียเชียวล่ะ

      ศาลเจ้ากองฮกเกียง  เป็นศาลเจ้าจีนแห่งแรกในปีนัง จารึกระบุปีที่สร้าง ค.ศ.๑๘๐๐ ความหมายของชื่อ “กองฮกเกียง” คือ กวางตุ้งและฮกเกี้ยนร่วมกันสร้าง ศาลเจ้าตั้งอยู่ในย่านลิตเติ้ลอินเดีย

      มัสยิดกัปตันเคลลิง (Kapitan Keling Mosque : Keling เป็นคำที่ชาวมาเลย์เรียกคนอินเดียในยุคนั้น) ราวต้นค.ศ.๑๘๐๐  พ่อค้าชาวอินเดียหัวหน้าของชุมชนมุสลิมทมิฬ ได้ริเริ่มสร้างมัสยิดแห่งนี้ขึ้น ส่วนสถาปนิกกลับเป็นชาวเยอรมัน มีการใช้สถาปัตยกรรมผสมผสาน มุสลิมโมกุล มัวร์ โกธิค และเรอเนสซองส์ มัสยิดได้รับการบูรณะใหญ่ในปี ๑๙๓๐ แต่ก็ยังคงโครงสร้างและสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้  ปัจจุบันเปิดให้ชมยามค่ำคืนได้ด้วย สวยงามไปอีกแบบ

      Street Art เป็นอีกไฮไลท์ที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ

      Peranakan Mansion คล้ายพิพิธภัณฑ์บาบ๋า-ยาย๋า ในเมืองภูเก็ต

      Chulia Street Hawker Center ย่านอาหารการกิน ช้อปปิ้ง ยามราตรี ที่นักท่องเที่ยวทุกคนต้องไม่พลาด

      จอร์จทาวน์ แถวแรก : มัสยิดกัปตันเคลิง, อาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีส. เฉียกงสี  / แถวสอง : ctiy hall, บานประตูโบราณปารานากันแมนชั่น  / แถวสาม : Blue House Mansion, Street Art, Town Hall, ทางเดินต่อเนื่องของอาคาร cr. ขอบคุณภาพสวยจาก pinterest.com และ flickr.com และ gayatravelmagazine

      จอร์จทาวน์ แถวแรก : มัสยิดกัปตันเคลิง, อาคารสไตล์ชิโน-โปรตุกีส. เฉียกงสี / แถวสอง : ctiy hall, บานประตูโบราณปารานากันแมนชั่น / แถวสาม : Blue House Mansion, Street Art, Town Hall, ทางเดินต่อเนื่องของอาคาร cr. ขอบคุณภาพสวยจาก pinterest.com และ flickr.com และ gayatravelmagazine

      คูกงสี เฉินกงสี ปีนัง

      บน : กงสีตระกูลคู / ล่าง : กงสีตระกูลเฉิน

      บน : กงสีตระกูลคู / ล่าง : กงสีตระกูลเฉิน

      กงสีตระกูลคู เป็นอีกสถานที่หนึ่ง ที่ควรจัดเวลาเข้าเยี่ยมชม นับเป็นคฤหาสน์ของตระกูลชาวจีนที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำการสร้างถึง ๓ รอบ รวมกันแล้วร่วม ๑๓ ปี ว่ากันว่า สร้างครั้งที่สองนั้น สวยงามวิจิตร โอ่โถง อลังการ เทียบได้กับความงามของพระราชวังเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อกันว่า การที่กงสีโดนไฟไหม้เสียหายหนักในเวลาต่อมา ก็เพราะคิดไปเทียบเคียงพระราชวังของฮ่องเต้นั่นเอง   ... ชมภาพและอ่านเพิ่มเติมได้ที่เฟสบุ๊คหน่อโพธิ์แทรเวล

      กงสีตระกูลเฉิน ตั้งอยู่ใกล้กับกงสีตระกูลคู มีอายุเก่าแก่พอๆ กัน และเป็น ๑ ใน ๕ ตระกูลชาวจีนที่เป็นเสาหลักของเศษฐกิจเมืองปีนังเมื่อครั้งอดีต (๕ ตระกูลได้แก่ คู เฉิน โหย่ว ลิ้ม และ ตัน)


      ปีนังฮิลล์

      เที่ยวปีนังฮิลล์

      เที่ยวปีนังฮิลล์

      ปีนังฮิลล์ นั่งรถรางขึ้นไปชมวิวทิวทัศน์ ๓๖๐ องศา สัมผัสบรรยากาศสดชื่นบนยอดเขา เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่มาถึงปีนังแล้วไม่ควรพลาด นอกจากชมธรรมชาติ และศาสนสถานเก่าแก่ รวมถึงบ้านพักชาวอังกฤษที่สวยคลาสสิกแล้ว  ยังมีกิจกรรม adventure ทั้งแบบเบาๆ เช่น สะพานเดินบนยอดไม้ จนถึงเข้มๆ แบบ ZipLine ให้ได้เล่นได้ลอง ร้านคาเฟ่เก๋ๆ สำหรับคนชอบอัพภาพในโมเมนท์นี้ ก็มีเช่นกัน 

      ปีนังฮิลล์ ยังมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกด้วย เส้นทางรถไฟขึ้นปีนังฮิลล์ เป็นเส้นทางเก่าใช้มาตั้งแต่ค.ศ.๑๙๒๓ เพื่อขนส่งผู้คนและเสบียง ต่อมาในปีค.ศ.๑๙๗๒ ควีนอเลิซาเบธที่ ๒ ได้เสด็จเยือนมาเลเซีย และเสด็จขึ้นปีนังฮิลล์โดยทางรถไฟสายนี้ ตู้โดยสารที่ใช้รับเสด็จ มีหน้าตาแปลกไปจากตู้โดยสารปัจจุบันเยอะ ถ้าขึ้นปีนังฮิลล์ก็แวะไปถ่ายรูปกันได้ เขาอนุรักษ์ไว้ให้ชม 

      รู้จักทางรถไฟปีนังฮิลล์ให้มากขึ้น

      วัดเก็กลกซี ปีนัง

      วัดเก็กลกซี ปีนัง

      วัดเก็กลกซี ปีนัง

      วัดเก็กลกซี (Kek Lok Si ) เรียกอีกชื่อว่า วัดเขาเต่า เป็นวัดพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซีย มีเนื้อที่รวมทั้งสิ้นเกือบ ๘๐ ไร่ จุดที่น่าสนใจมากอีกจุดหนึ่งภายในวัดแห่งนี้ ก็คือ เจดีย์เจ็ดชั้น ที่มีความงดงามจากการผสมผสานศิลปะจาก ๓ ชาติ คือ ฐานเจดีย์เป็นแบบจีน ตัวเจดีย์เป็นแบบไทย และยอดเจดีย์เป็นแบบพม่า (แสดงถึงการรวมเป็นหนึ่งของชาวพุทธทุกนิกาย) โดยมีการตกแต่งด้วยพระพุทธรูปสำริดและพระพุทธรูปศิลาขาวทั้งหมด ๑๐,๐๐๐ องค์ ด้านบนสุดของวัดประดิษฐานองค์เจ้าแม่กวนอิมสูง ๓๐ เมตร โดยรอบตกแต่งด้วยไม้ดอกไม้ประดับอย่างงดงาม สามารถชมทัศนียภาพรอบๆ เกาะปีนังได้สะดวก

      ประวัติของวัดเก็กลกซี ย้อนไปได้ถึงปลายคศต.ที่ ๑๙ สมัยที่พระอาจารย์เบี่ยวเลี่ยน ภิกษุจากมณฑลฮกเกี้ยนเดินทางมาจำพรรษาที่ปีนัง ท่านค้นพบเขาลูกหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะคล้ายนกกระเรียนกำลังกางปีก ทำเลดีตามหลักฮวงจุ้ย จึงตัดสินใจสร้างวัดขึ้นบนเขาลูกนี้ พร้อมทั้งให้ชื่อเป็นภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า ‘เก๊กลกซี’ แปลว่า วัดแห่งแดนสุขาวดีพุทธเกษตร

      การก่อสร้างเริ่มต้นใน ค.ศ. ๑๘๙๐ โดยการอุปถัมภ์หลักจากเสาหลักชาวจีนฮกเกี้ยน ๕ ตระกูลแซ่ แห่งปีนัง การก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๕ เพียง ๑ ปีก่อนที่พระอาจารย์เบี่ยวเลี่ยนจะมรณภาพ ในสมัยของเจ้าอาวาสรูปที่สอง ทางวัดได้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่ คือ ‘เจดีย์หมื่นพุทธ’ ที่สูงถึง ๑๐๐ ฟุต สำหรับผู้สนับสนุนหลักในการสร้างและอุปถัมภ์

      วัดแห่งนี้ในยามปรกติว่าสวยงามแล้ว ในช่วงเทศกาลตรุษจีนต่อเนื่องไปอีกราว ๑ เดือน ยิ่งสวยงามมากยิ่งขึ้นเพราะทางวัดประดับประดาด้วยโคมและไฟหลากสี เปิดให้สาธุชนเข้าสักการะในช่วงค่ำได้ด้วย  

      สะพาน Pintasan กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์

      กัวลาลัมเปอร์ สะพาน Pintasan และ ตึกแฝดเปโตรนาส

      กัวลาลัมเปอร์ สะพาน Pintasan และ ตึกแฝดเปโตรนาส

      สะพาน Pintasan Saloma สถาปัตยกรรมที่ได้รับการกล่าวขาน

      สะพานแห่งนี้เป็นสะพานลอยข้ามถนนไฮเวย์ ใช้สำหรับคนเดินและจักรยาน รวมมระยะทางราว ๓๗๐ เมตร จากสะพานเห็นได้ทั้งวิวเมือง ตึกแฝด และ KL Tower ว่ากันว่ารูปร่างของสะพานได้รับแรงบันดาลใจมาจากช่อดอกไม้มงคลที่ใช้สำหรับพิธีแต่งงานของชาวมาเลเซีย รูปร่างคล้ายกับใบพลูที่พับเป็นทรงสามเหลี่ยมซ้อนกัน

      ไฮไลท์คือ การติดไฟ Led นับพันดวง เปิดสลับสีกันไปในช่วงค่ำคืน (สะพานปิดราวตี ๑)

      Pintasan แปลว่า สะพาน แต่ Saloma กลับเป็นชื่อของนักร้องอมตะนิรันดร์กาลของมาเลเซีย ซึ่งนอนหลับอยู่ในสุสานใกล้ย่านนั้น การจะเดินไปสุสานของเธอ ก็ต้องข้ามสะพานแห่งนี้ด้วย ชื่อของสะพานก็เลยใช้ชื่อของเธอไปโดยปริยาย  

      สะพานเริ่มเปิดใช้ตั้งแต่วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ.๒๐๒๐ ใช้งบประมาณก่อนสร้างราว ๓๑ ล้านริงกิต ในเวลานั้น สามารถเป็นจุดดึงดูดการท่องเที่ยวมาเลเซีย คู่กับตึกแฝดได้ดีทีเดียวเมื่อชมที่นี่เสร็จแล้ว ก็ไปดูน้ำพุเต้นระบำ ที่มีฉากหลังเป็นตึกแฝดเปรโตรนาสกันต่อ คลิกชมภาพช่อดอกไม้และภาพเพิ่มเติม 

      Petronas Twin Towers

      Petronas Twin Tower Kuala Lumpur

      Petronas Twin Tower Kuala Lumpur

      ไม่มีใครไม่รู้จักตึกแฝดเปรโตนาส กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวมาเลเซีย

      ตึกคู่นี้เกิดขึ้นจากดำริของดร.มหาเธร์ อีกเช่นกัน เพื่อสร้างชื่อเสียงให้มาเลเซียว่า เป็นตึกที่สูงที่สุดในโลก การวางแผนก่อสร้างเริ่มขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1920 แต่กว่าจะได้เริ่มงานก่อสร้างตัวตึกจริงๆ ก็เข้าปี 1994 เพราะงานทดสอบและการขุดดินวางฐานรากที่ยิ่งใหญ่เป็นประวัติศาสตร์ของมาเลเซียเลยทีเดียว ต่อด้วยส่วนอื่นๆ กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ เปิดอย่างเป็นทางการก็เมื่อ สิงหาคม 1999 งบประมาณสูงถึง 1.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ

      อาคารโดดเด่นด้วย Islamic Pattern และเมื่อมองจากด้านบนลงมา จะเห็นว่าอาคารมีลักษณะเหมือนดาว 8 แฉก ตัวอาคารมีความสูงถึง 452 เมตร เคยเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันลดมาเหลืออันดับที่ 11 ของโลก มีทั้งหมด 88 ชั้น รวมชั้นใต้ดิน 5 ชั้น ส่วนสะพานที่เชื่อมระหว่างสองตึกเป็นสะพาน 2 ชั้น ยาว 58.4 เมตร พาดอยู่ที่ตำแหน่งชั้นที่ 41 ของอาคาร 

      ถ้าจะสำรวจตึกแฝดอย่างอิ่มๆ เที่ยวแบบเพลินๆ ก็ต้องให้เวลาอย่างน้อยสักครึ่งวัน เพราะนอกจากจะชมภาพวิวสูง ให้ตื่นเต้นกับความสูงระดับโลกแล้ว ภายในตึกยังมี Art Gallery และ Suria KLCC Shopping Mall ที่หรูหรา ให้เดินช้อปกันเพลินไปเลย

      ส่วนไฮไลท์ด้านนอก แนะนำเวลาค่ำที่สวน KLCC ด้านหลังตึกแฝด จะมีการจัดแสดงน้ำพุประกอบแสงเสียงที่มีฉากหลักเป็นตึกแฝด สวยงามอย่างยิ่ง มีเป็นรอบๆ ตั้งแต่เวลา 19.00 น. ไปจนถึง 21.00 น. รอบละ 30 นาที โดยประมาณ

      พอชมที่นี่เสร็จ ก็แนะนำไปชมโชว์ที่แม่น้ำแห่งชีวิตต่อได้เลย 

      ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก https://www.petronastwintowers.com.my/

      River of Life Kuala Lumpur

      river of life อภิมหาโปรเจกต์ กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์

      river of life อภิมหาโปรเจกต์ กลางกรุงกัวลาลัมเปอร์

      Amazing River of Life หรือ แม่น้ำแห่งชีวิต เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ขอยกให้เป็นที่สุดแห่งความอเมซิ่งกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ อยู่ใกล้กับ เมอร์เดก้าสแควร์ และ ไชน่าทาวน์สถานที่แห่งนี้มีทางเดินขนาบแม่น้ำ ๒ สาย ที่ไหลผ่านกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์ ท่ามกลางตึกรามอาคารเก่าใหม่ของเมืองหลวง พร้อมสิ่งสันทนาการต่างๆ ให้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ที่มีสีสันน่าตื่นตาตื่นใจสุด ๆ

      บริเวณนี้เป็นจุดตัดของแม่น้ำ Gombak River และ Klang River (ที่ไหลยาวไปลงทะเลที่เมืองมะละกา) ให้ภาพที่คลาสิคด้วยฉากหลังเป็นมัสยิดสุลต่านอับดุลซามัค มัสยิดที่เก่าที่สุดในกัวลาลัมเปอร์

      โครงการ The River of Life เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.๒๐๑๑ ครอบคลุมพื้นที่พัฒนากว่า ๔,๐๐๐ ไร่ ใช้งบประมาณ ๔.๔ พันล้านริงกิต และใช้เวลาหลายปีทีเดียวกว่าจะพัฒนาได้เกือบเสร็จสมบูรณ์ แต่ก็สวยงามน่าภาคภูมิใจ เพราะได้รับยกย่องเป็นหนึ่งในสิบ ของการบริหารคุณภาพของแม่น้ำที่ดีที่สุดในโลก จัดอันดับโดยหนังสือพิมพ์ Indepentent ของอังกฤษ

      ที่ต้องยกให้เป็นสุดยอดของอเมสซิ่ง น่าทึ่งและน่าชื่นชมสุด ๆ ก็เรื่องนี้ล่ะ การปรับเปลี่ยนคุณภาพน้ำตลอดทางยาวของแม่น้ำกว่า ๑๑ กม. แน่นอนผู้ริเริ่มต้องมีวิสัยทัศน์ ต้องมีความตั้งใจและความพยายามอย่างมาก มันยากมากนะที่จะแก้ไขแม่น้ำสกปรกใจกลางเมืองให้กลับกลายเป็นน้ำดี ช่วงแรกตั้งเป้าจากน้ำเสียกลายเป็นน้ำที่สัมผัสได้ไม่เป็นพิษ ไม่มีกลิ่นเน่า แล้วค่อยต่อด้วยช่วงที่สองที่ทำให้กลายเป็นน้ำสะอาด สามารถแวกว่ายได้เหมือนในอดีต

      บริเวณโดยรอบ River of Life น่าเดินเล่นมากๆ มีสวนสวย ตกแต่งด้วยน้ำพุ มีทางจักรยาน ทางจ๊อกกิ้ง ร้านอาหาร ร้านคาเฟ่ และยังมีโชว์แสงสีประกอบน้ำพุเต้นระบำในตอนกลางคืน ทำให้ผืนน้ำกลายเป็นสีฟ้าสดใส (โชว์เวลาราว ๒๑-๒๒ น)

      หากไปชมในเวลากลางวัน ก็สามารถเดินชม Street Art ย่านไชน่าทาวน์ ถนน Kwai Chai Hong ได้ด้วยพร้อมกัน  

      มัสยิดจาเม็ค

      #มัสยิดจาเม็ค ชื่อทางการคือ มัสยิดสุลต่านอับดุลซามัค เป็นมัสยิดที่เก่าที่สุดในกัวลาลัมเปอร์ ตั้งอยู่ตรงจุดที่แม่น้ำสองสาย Klang และ Gombak มาบรรจบกัน ซึ่งก็อยู่ในบริเวณโครงการพัฒนาแม่น้ำแห่งชีวิต

      มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ.๑๙๐๙ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่าง Indo-Saracenic มัวร์ และโมกุล สถาปนิกผู้ออกแบบมีนามว่า Arthur Benison Hubback ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่ออกแบบสถานีรถไฟกัวลาลัมเปอร์ ต้นทุนในการก่อสร้างเวลานั้น ราว ๓๒,๖๒๕ ดอลล่าร์สหรัฐ ได้รับการสนับสนุนจากชุมชน และรัฐบาลอังกฤษที่ปกครองมาเลเซียอยู่ในเวลานั้น

      มัสยิดมีหอคอยหลักสองหอ และมีหอคอยเล็กรายรอบอีกหลายหอ จะสังเกตเห็นสีของหอคอยเป็นขาวสลับชมพู ซึ่งแทนสัญลักษณ์ของเลือดและผ้าพันแผล เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ สถานที่นี้เป็นจุดที่ธงชาติอังกฤษมาปักลงเป็นครั้งแรกในมาเลเซีย มัสยิดมีโดม ๓ หลัง หลังใหญ่มีความสูงถึง ๒๑.๓ เมตร

      "จาเม็ค" ในภาษามาเลย์ แปลว่า สถานที่ชุมนุมเพื่อศรัทธา ชาวบ้านมักเรียกมัสยิดนี้ว่า "มัสยิดวันศุกร์" มัสยิดแห่งนี้ถูกใช้เป็นมัสยิดหลักของกัวลาลัมเปอร์จนถึงราว ค.ศ.๑๙๖๕ ก็ได้มีการสร้างมัสยิดแห่งชาติหรือชื่อมัสยิดเนการา ขึ้นมา

      แน่นอนว่าอาคารเก่าแก่ มักต้องมีช่วงของการหักพักและบูรณะบ้าง ในปีค.ศ.๑๙๙๓ โดมของมัสยิดจาเม็คได้พังลงมาจากพายุฝนที่กระหน่ำ การบูรณะแล้วเสร็จในปี ค.ศ.๒๐๑๗ จากนั้นสุลต่านในเวลานั้น คือ สุลต่านซาราฟุดดิน ไอดริส ชาห์ ก็เปลี่ยนชื่อมัสยิดเป็น "มัสยิดสุลต่านอับดุลซามัค" ซึ่งเป็นผู้สร้างและเป็นสุลต่านองค์ที่ ๔ ของรัฐสลังงอร์


      วัดเทียนหัว

      วัดเทียนหัว กัวลาลัมเปอร์

      วัดเทียนหัว กัวลาลัมเปอร์

      วัดเทียนหัว (Thean Hou Temple ) อีกสถานที่หนึ่งที่พลาดไม่ได้ เมื่อไปเที่ยวมาเลเซีย

      เป็นวัดของชุมชนชาวไหหลำ สร้างอุทิศแด่เจ้าแม่หม่าโจ้ว เทพผู้ปกปักษ์ชาวทะเล (คนไทยมักเรียกเจ้าแม่ทับทิม) เป็นหนึ่งในวัดจีนขนาดใหญ่ที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก็มีความผสมผสานพระพุทธศาสนา ลัทธิเต๋า และลัทธิขงจื้อ เข้าด้วยกัน

      ตามแบบวัดจีนทั่วไป ผู้คนศรัทธามากขนาดที่มีการนำไปสร้างจำลอง (ย่อส่วน) ไว้ที่เกาะลังกาวีด้วย

      วัดตั้งอยู่บนเนินเขารอบซัน (Robson Heights) เริ่มสร้างในปีค.ศ. ๑๙๘๑ แล้วเสร็จในปี ค.ศ.๑๙๘๗ โถงของวัดประกอบด้วยแท่นบูชาเทพเจ้าทั้งสามองค์ โดยทางขวาเป็นพระโพธิสัตว์กวนอิม, ตรงกลางเป็นหม่าโจ้ว และทางซ้ายเป็นจุ้ยบ้วยเนี้ย ตัววัดมีความสูงถึง ๖ ชั้น แต่ละชั้นจะสร้างให้มีมิติลดหลั่นลงมามองดูว่าใกล้เรามากขึ้นเรื่อย ๆ สามารถเดินขึ้นบันไดไปจนถึงชั้นบนสุดได้ จะมองเห็นวิวเมืองกัวลาลัมเปอร์ที่มีพื้นที่สีเขียวของวัดเป็นเส้นตัดไฮไลท์ของวัดที่นักท่องเที่ยวชอบคือ โคมแดงจำนวนมากมาย และสถาปัตยกรรมที่สวยงาม

      วัดเปิดตั้งแต่ ๐๘.๐๐-๒๒.๐๐ น. และจะยิ่งสวยงามอย่างมากในช่วงตรุษจีน ที่จะเปิดไฟสว่างไสวไปทั่ว

      ปุตตราจายา อภิมหาโปรเจกต์

      Green and Intelligent City

      ปุตตราจายา เมืองใหม่ของมาเลเซีย ที่เรียกว่าใหม่เพราะเป็นเมืองที่ถูกสร้างขึ้นในยุคนี้เอง ดำริโดยนายกรัฐมนตรีคนที่ ๔ ดร.มหาเธร์ มูฮัมมัด เมื่อราวต้น ค.ศ.๑๙๐๐ เพื่อลดความคับคั่งของเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ และต้องการให้เป็นศูนย์ราชการของประเทศ ที่มีความสมบูรณ์แบบทั้งผังเมือง และเทคโนโลยี คอนเซปสำคัญของการออกแบบเมืองนี้คือ "green and intelligent city" โดยให้มีพื้นที่สีเขียวและสาธารณะถึง ๓๘% การพัฒนาอย่างจริงจังเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๙๕ และสมบูรณ์สู่พิธีเปิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๐๐๑ ใช้งบประมาณราว ๘.๑ พันล้านเหรียญสหรัฐ

      สิ่งที่คนมาเลเซียภูมิใจมากคือ เป็นโครงระดับอภิมหาที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้เป็นของมาเลเซียเกือบทั้งสิ้น มีเพียง ๑๐% เท่านั้นที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ

      ชื่อเมือง "ปุตตราจายา" ตั้งขึ้นในปี ๑๙๙๔ โดยคำนี้มีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤต ที่นำเข้ามาในภาษามลายู "ปุตตรา" ก็คือ บุตรชาย ส่วน "จายา" หมายถึง ความสำเร็จหรือชัยชนะ รวมความคือ เมืองของผู้ชนะนั่นเอง

      ปุตตราจายา อยู่ห่างจากเมืองหลวงกัวลาลัมเปอร์ ราว ๒๕ กม. และอยู่ระหว่างสนามบินนานาชาติแห่งใหม่กับเมืองหลวง มีการแบ่งเขตของศูนย์ราชการ เขตการค้า และย่านที่อยู่อาศัยอย่างเป็นระบบ มีพื้นที่สีเขียว และทางน้ำไหลผ่านตัวเมืองไปสู่ทะเลสาบขนาดใหญ่ ถนนได้รับการออกแบบในสไตล์ตะวันตก ส่วนอาคารต่างๆ มีความผสมผสานระหว่างศิลปะอิสลามและสถาปัตยกรรมตะวันตก สถานที่โดดเด่นที่ผู้คนนิยมไปเยี่ยมชม เช่น มัสยิดปุตรา ที่มีสีชมพูสวยหวาน จนมีชื่อเล่นว่ามัสยิดสีชมพู / อีกที่หนึ่งคือ Iron Mosque หรือ มัสยิดเหล็ก ที่มีแนวคิดการออกแบบอย่างเนิร์ดเชียวล่ะ / จัตุรัสเมอร์เดก้า ที่เป็นเหมือนเกาะกลางทะเลสาบ มีสะพานรูปลักษณ์สวยแปลกทอดเชื่อมมาจากฝั่ง เป็นต้นผังเมืองสวยงามขนาดไหน ลองชมภาพตัวอย่างดูนะคะ

      เมืองปุตตราจายา

      เมืองปุตตราจายา

      การตั้งค่าคุกกี้
      X
      ไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อให้คุณได้รับประสบการณ์ในการท่องเว็บที่ดียิ่งขึ้น
      คุณสามารถยอมรับคุกกี้ทั้งหมดหรือเลือกประเภทของคุกกี้ที่คุณยินดีอนุญาต
      ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
      เลือกคุกกี้ที่คุณต้องการอนุญาตในขณะที่คุณเรียกดูเว็บไซต์นี้ โปรดทราบว่าคุกกี้บางตัวไม่สามารถปิดได้ เนื่องจากหากไม่มีคุกกี้ เว็บไซต์จะไม่ทำงาน
      ความสำคัญ
      เพื่อป้องกันสแปม ไซต์นี้ใช้ Google Recaptcha ในแบบฟอร์มการติดต่อ

      ไซต์นี้อาจใช้คุกกี้สำหรับอีคอมเมิร์ซและระบบการชำระเงินซึ่งจำเป็นสำหรับเว็บไซต์เพื่อให้ทำงานได้อย่างถูกต้อง
      บริการของ Google
      ไซต์นี้ใช้คุกกี้จาก Google เพื่อเข้าถึงข้อมูล เช่น หน้าที่คุณเยี่ยมชมและที่อยู่ IP ของคุณ บริการของ Google บนเว็บไซต์นี้อาจรวมถึง:

      - Google Maps
      - Google Font
      ข้อมูล
      ไซต์นี้อาจใช้คุกกี้เพื่อบันทึกพฤติกรรมของผู้เข้าชม ติดตามการแปลงโฆษณา และสร้างผู้ชม รวมถึงจาก:

      - Google Analytics
      - เครื่องมือวัด Conversion ของ Google Ads
      - Facebook (Meta Pixel)